top of page
รูปภาพนักเขียนPINK MUPA

กีสา – งานโซโล่หมอลำ : วัฒนธรรมที่พลิ้วไหวดั่งผืนผ้าขาวม้าผืนยาวที่กองอยู่ในโรงละคร

อัปเดตเมื่อ 23 มี.ค. 2565

โดย อาจารย์มโน วนเวฬุสิต



ขอออกตัวไว้ก่อนว่าผู้เขียนมีโอกาสได้เสพงานประเภทหมอลำหรือสื่อบันเทิงอีสานน้อยมาก และเมื่อได้รับภารกิจให้ไปบันทึกภาพการแสดงหมอลำพื้นร่วมสมัยชุด “กีสา” ที่สร้างสรรค์การแสดงโดยนางสาว ปาลิตา ศรีวบุตร นิสิตปริญญาโทของคณะดนตรีและการแสดงของเรา ณ โรงละคร Performing Arts Center คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เลยถือโอกาสนี้หาข้อมูลเพิ่มเติมเล็กน้อยว่าสิ่งที่ถูกเรียกและขนานนามว่า “หมอลำ” คืออะไร

กล่าวอย่างไม่เยิ่นเย้อคำว่า หมอลำ ตามที่เราเข้าใจเมื่อหารากที่มาของมันก็มาจากคำ 2 คำผสมกันคือ “หมอ” ซึ่งมิได้หมายถึงแพทย์หรือบุคลากรทางสาธารณสุขแต่อย่างใด แต่เป็นคำแทน ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพ (Professional) ส่วน “ลำ” หมายถึงเรื่องเล่า (Story Telling) ที่มาพร้อมท่วงทำน้องอันไพเราะ หรือที่ชาวอีสานมีภาษาเรียกของเขานั่นคือ “กลอนลำ” นั่นเองและเรื่องราวส่วนใหญ่ของหมอลำก็มักเกี่ยวพันกับเรื่องเล่าที่มีคติสอนใจหนึ่งในนั้นคือการนำเรื่องราวจากพระไตรปิฎกมาดัดแปลงให้เข้าถึงผู้ชมผู้ฟังท้องถิ่นนั่นเอง

และตัดกลับมาที่ “กีสา” ของปาลิตาก็ไม่ต่างกันเพราะเธอนำเรื่องเล่าที่ชาวอีสานรู้จักกันดีของพระแม่กีสาโคตมีเถรี ภิกษุณีผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ที่ได้ผ่านเรื่องราวเลวร้ายจากการสูญเสียลูกน้อยให้แก่อสรพิษและได้เรียนรู้การปล่อยวางจนได้เป็นภิกษุณีผู้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์มาดัดแปลงเป็นหมอลำพื้นร่วมสมัยที่ปาลิตาเลือกนำมาจัดแสดงเป็นการแสดงเดี่ยวหรือโซโล่ (Solo) ได้อย่างน่าสนใจ

ความน่าสนใจแรกคือการจัดสเปซที่ใช้แสดง ผู้ชมจะพบผืนผ้าถูกห้อยลงมาจากเพดานท่ามกลางพื้นที่ว่างที่ช่วยขับเน้นสารที่นักแสดงและผู้สร้างสรรค์ต้องการสื่อได้เป็นอย่างดี และที่สะดุดตาอย่างยิ่งคือกองผ้าที่ถูกวางไว้บนพื้นเป็นอาณาเขตบางอย่าง และพอไฟดับมืดลงเราก็พบ ปาลิตา ในชุดสองชิ้นสีขาวค่อย ๆ ใช้มือและแขนของเธอขมวดกองผ้าขึ้นจากพื้น ทลายอาณาเขตกั้นใด ๆ ระหว่างเธอ ผู้ชม หรือกระทั่งกรอบคิดของคำว่า “หมอลำ” ให้ผสมกลมกลืนและการเป็นการแสดงของโลกไร้อาณาเขตอย่างแท้จริง

และก่อนเราจะพูดถึงการแสดงทั้งในฐานะ “หมอลำสมัครเล่น” หรือในฐานะคนสร้างงานร่วมสมัย เป็น “ผ้าขาวม้าผืนยาว” นี่แหละที่ถูกใช้เป็นโมทีฟในการเล่าเรื่องได้อย่างทรงพลัง เมื่อถึงเล่าถึงอสรพิษ ผืนผ้าดังกล่าวก็ถูกนำมาชุบชีวิตให้กลายเป็นงูโดยผู้แสดง และเมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงจุดที่นางกีสาเริ่มติดในบ่วงของการยึดมั่นถือมั่นและเป็นทุกข์ ผ้าผืนเดียวกันก็กลายเป็นบ่วงรัดคอนางไว้ หรือแม้แต่การนำมาดัดแปลงเป็นคอสตูมเพื่อแปลงร่างไปสู่ตัวละครยายเฒ่าก็สร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวละครได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ทีนี้เมื่อตัดองค์ประกอบที่น่าชื่นชมทั้งฉากผ้าที่ห้อยลงมา แสง สี เสียง ที่ไม่ได้เป็นประเด็นในบทความชิ้นนี้และรวมถึงการใช้พรอบอย่าง “ผ้าขาวม้าผืนใหญ่” ในย่อหน้าดังกล่าวแล้ว เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างปาลิตานี่เองที่สามารถแบกความยากในการถ่ายทอดครั้งนี้ แต่กระนั้นแล้วหากจะนำมาตรฐานการแสดงหมอลำแบบมืออาชีพมาใช้เลยก็คงถือว่าเป็นการประเมินงานที่ผิดที่ผิดทางไปหน่อยด้วยรูปแบบงานที่เป็นการแสดงร่วมสมัยจึงอาจต้องใช้แว่นของหลาย ๆ ท่านมาตัดสินในตัวงานชิ้นนี้

โดยผู้เขียนจะขอนำโพสต์ทางเฟซบุ๊คของผู้ชมผลงานต่าง ๆ มารวบรวมในบทความดังนี้



 

ศ.ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี ประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กีสา ...หมอลำพื้นร่วมสมัย

บ่ายวันนี้มีโอกาสเข้าชมการแสดงผลงานของนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการแสดง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะตามคำเชิญของคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา

การแสดงผลงานวันนี้เดินเรื่องโดยอาศัย” การลำ” ผสมผสานการเล่าเรื่องผ่านการ acting โดยการนำแนวคิดลำพื้นแบบดั้งเดิม กล่าวคือเป็นการลำที่อาศัยผ้าขะม้าผืนเดียวเป็นอุปกรณ์ประกอบการเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องของหมอลำในอดีตอาจจะประกอบท่าทางพื้นๆ แต่อาศัยปัจจัยหลักจากน้ำเสียงของหมอลำเป็นสำคัญ ในการสื่อสาร. สำหรับการแสดงในวันนี้ให้น้ำหนักไปที่การแสดงท่าทางเป็นสำคัญ ซึ่งก็ตรงตามแนวคิดลำพื้นร่วมสมัย ในการแสดงวันนี้ปรากฎพบการใช้ผ้าขะม้าผืนยาวพิเศษเป็นอุปกรณ์ในการเล่าเรื่องอย่างคุ้มค่า และสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่ผู้แสดงต้องลำเอง เล่าเรื่อง แสดงท่าทางปนะกอบตลอดระยะเวลา 1 ชม จึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและประทับใจ

ในด้านดนตรี สำหรับการแสดงชุดกีสา ลำพื้นร่วมสมัยมีข้อสังเกตดังนี้

1) ช่วงการลำ พบว่ามีการใช้เครื่องดนตรีประเภทบรรเลงทำนอง หลายเครื่องบรรเลงซ้อนกัน ทำให้เสียงที่พยายามจะบรรเลงคู่เคียงเกิดอาการเสียงกัดกัน ในขณะเดียวกันก่อให้เกิดการลดทอนความโดดเด่นของเสียงหมอลำ ในการปรับปรุง คงไม่ได้หมายความว่าตัดเครื่องดนตรีเครื่องใดเครื่องหนึ่งออก แต่สามารถใช้กระบวนการเรียบเรียงบทบาทเครื่องดนตรีแต่ละเครื่องใหม่ ทำแนวเสียงให้เอื้อต่อการบรรเลงพร้อมกันได้ โดนเสียงไม่เบียดทับซึ่งกันและกัน

2) การแสดงกีสา ลำพื้นร่วมสมัยในวันนี้ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการร่วมสมัยเฉพาะการสื่อสารผ่าน acting ที่แตกต่างจากลำพื้นแบบดั้งเดิมแต่ในส่วนทำนองการลำยังคงเป็นลำแบบดั้งเดิม ดังนั้นหากมีผู้สนใจต่อยอดการลำร่วมสมัย โดยอิงมิติทางดนตรี สามารถสร้างสรรค์ทำนองลำให้มีความร่วมสมัยตรงตามนิยาม

3) เพื่อเสริมการเล่าเรื่องผ่านการลำและ acting ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากสร้างสรรค์คอรัสสำเนียงอีสาน แทนการเล่าเรื่องบางช่วงจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารที่คมชัดและทำให้เสียงดนตรีมีมิติที่หลากหลาย อีกทั้งทำให้นิยามของคำว่า “ร่วมสมัย“ มีความสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์

ขอบคุณ ม. บูรพามากๆ นะครับที่ให้เกียรติผมอย่างสูงในวันนี้.


จากใจ หมอลำเอ็กซ์ เสียงหวาน (XXX)

20/2/22



 

ผศ.พชญ อัคพราหมณ์ สาขาวิชาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

มีโอกาสได้ชมการแสดงหมอลำพื้นร่วมสมัย เรื่อง กีสา ผลงานการแสดงของน้องฟิวส์ ปาลิตา Fiws' Palita นิสิต ป.โท ศิลปะการแสดง คณะดนตรีและการแสดง ม.บูรพา เธอได้ลงพื้นที่ศึกษาหมอลำกับแม่ครูฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดงหมอลำ แล้วนำมาฝึกฝนต่อยอดเป็นการแสดงเดี่ยว โดยพื้นฐานของเธอนั้นเรียนการแสดง (acting) ตามแนวทางละครตะวันตกในระดับ ป.ตรี ที่ มข. การใช้พื้นเพความเป็นลูกอีสาน เพื่อกลับมา relearn สิ่งที่คุ้นเคย ทำให้งานชิ้นนี้มีโจทย์ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย แอคติ้งกับการแสดงพื้นบ้าน ผสมผสานออกมาเป็น "หมอลำพื้นร่วมสมัย" จะเป็นอย่างไร

เมื่อเดินเข้าโรงละคร เธอทำหน้าที่เป็นฟิวส์ในฐานะหมอลำคนหนึ่ง คอยต้อนรับผู้ชม ทักทาย ถามไถ่ผู้ชม เป็น tradition ของหมอลำ ที่มักจะแนะนำตัวเองกับผู้ชมก่อนการแสดง แล้วเธอก็นำเข้าสู่การบอกเรื่อง introduction ด้วยกลอนลำ แล้วเข้าสู่ห้วงของการแสดงเรื่องพระนางกีสาไปจนจบเรื่อง วิธีการนำเสนอการแสดงของเธอ เป็นการลำสลับผญาอีสาน และพูดบทละคร การแสดงจึงชวนให้ติดตามว่านักแสดงจะโชว์ทักษะหลายอย่างนี้เช่นไร

เธอใช้วิธีการแสดงสลับไปมาระหว่าง การแสดงสมจริงและการเล่าเรื่อง ตลอดระยะเวลา 1 ชั่วโมงกว่า นักแสดงต้องจัดการสมาธิตัวเองขั้นสูง กับตัวละครที่กำลังแสดง (หลายตัว) business และ blocking บนเวที ไม่ว่าจะเป็น ผ้าขาวม้า ที่เป็น main costume ของหมอลำพื้นในการเปลี่ยน character ก็ถูกนำใช้และตีความเป็นตัวละครอื่นในเรื่อง ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ และ identify ความเป็นหมอลำ-อีสาน กับการออกเสียง-ลีลาการลำ ขอชื่นชมพลังของฟิวส์ในฐานะผู้สร้างสรรค์ที่ทำให้เห็นว่า มีความพยายามทดลองหากลวิธีการแสดงหมอลำพื้น ให้ไม่พื้น และทำให้ตัวละครกีสา (และอื่นๆ) ในเรื่องเล่าแบบเธอนั้นมีมิติมีชีวิตชีวา และยังคงความเป็น theatrical ละครพื้นบ้านเอาไว้ได้

ส่วนตัวมองว่า หากพัฒนาต่ออีกสักระยะน่าจะทำให้ได้วิธีการแสดงหมอลำแบบใหม่ที่ลงตัว การฝึกฝนทักษะการลำ อันเป็นหัวใจของหมอลำ หากทำงานกับส่วนนี้ให้มากขึ้น แล้วค่อยเติมรายละเอียดตัวละครเข้าไปผ่านการตีความ คงทำให้การแสดงตราตรึงอย่างแน่นอน

สิ่งที่ประทับใจอีกอัน คือ ดนตรีประกอบการแสดง ที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานทั้งหมด โดยส่วนตัวก็ใช้เช่นนี้ในการทำการแสดงที่ผ่านมา จึงเห็นว่า เครื่องดนตรีอีสานทรงพลังมาก เมื่อนักดนตรีที่มีทักษะแข็งแรงผสมผสานทางดนตรีพื้นบ้านกับการตีความเสียง แล้วสร้างใหม่เพื่อสนับสนุนเรื่องราว-เสริมบรรยกาศ ทำให้การแสดงลื่นไหล และน่าติดตาม ขอชื่นชมกลุ่มนักดนตรีรุ่นใหม่ ที่พยายาม connect การแสดงตรงหน้ากับคิวที่อยู่ในสคริปต์ แล้วทะลุกรอบดนตรีในบางช่วงออกเพื่อเติมโลกของนางกีสาให้งามขึ้น

ในส่วนของรูปแบบการนำเสนอ ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องค้นหาต่อไปว่า ความเป็นหมอลำพื้น ซึ่งเดิมทีหมอลำจะปูเสื่อนั่งร้องยืนร้องออกลีลาโดยปราศจากอุปกรณ์ฉากแสงใด ๆ (มากสุดก็มีฉากหลังเป็นรูปท้องพระโรงแบบลิเกภาคกลาง) เพื่อเปิดจินตนาการให้กับผู้ชมผู้ฟัง ควรจะออกแบบสิ่งที่อยู่บนเวทีมากน้อยเพียงใด ถึงแม้ว่าจะเห็นความพยายามในการออกแบบความคิดให้มีทิศทางและเอกภาพ ส่วนตัวกลับมองว่า เป็นอุปสรรคต่อการแสดง ทำให้เรื่องที่ควรเข้าใจง่าย-สื่อสารง่าย กับคนดู เป็นเรื่องที่ complicated เช่น โปรเจคเตอร์ฉายภาพนางกีสา และภาพอื่น ๆ ที่เห็นไม่ชัดมากนัก ผ้าระโยงระยางที่มองเพลินสวยดี แต่ไม่แน่ใจว่าหมายถึงสิ่งใด รวมถึงความคิดที่ต้องการสื่อสาร ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ปรากฏชัด และขัดต่อขนบการแสดงหมอลำที่มุ่งสอนหรือบอกความคิดกับคนดูโดยตรงและตรงไปตรงมา ส่วนนี้อาจจะต้องทำงานหนักมากขึ้น หากได้พัฒนาอีกสักระยะน่าจะลงตัวกว่านี้

เรื่องพระนางกีสาที่เลือกมาเล่าและแสดงครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ-พุทธปรัชญา โดยตรง สอดคล้องกับการแสดงหมอลำในอดีตที่มักจะใช้นิทานสอนคุณธรรม จริยธรรม และคติธรรมทางพุทธเป็นเรื่องหลักเสมอ แต่การแสดงกลับไม่ได้เสนอ "สาร" ให้ชัดเจนเท่าใดนัก หากได้ขัดเกลาการเล่าเรื่องให้เข้ม น่าจะทำให้การแสดงหมอลำพื้นร่วมสมัยเรื่อง กีสา ทรงพลังอย่างมาก ทั้งการแสดงและการนำเสนอ...และความร่วมสมัยที่ relate กับผู้ชม

นอกเหนือจากที่กล่าวถึงทั้งหมด ส่วนตัวรู้สึกภูมิใจและปลื้มใจที่คนอีสานรุ่นใหม่สนใจอีสาน กล้าทดลองและขยับการแสดงอีสานไปอีกขั้น...เป็นกำลังใจ และอยากให้ทำต่อไปอีกนะครับ

#หมอลำพื้นร่วมสมัย #กีสา



 


นายอุเทน แร่ทอง สื่อมวลชนสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น

เล่นคนเดียว พูดบทภาษาอีสานโบราณก็ยากแล้ว

นี่ต้องเล่นกับผ้าผืนยาว ให้สื่อสารกับคนดูอีก

ทึ่งในฝีมือการแสดงครับ

#กีสา

ท้ายสุดกับความรู้สึกของผู้เขียนเองก็ต้องบอกว่า “กีสา” ในฉบับของปาลิตาน่าจะเป็นการเปิดประตูสู่โลกหมอลำของผู้เขียนเองรวมไปถึงมันยังสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะทำให้วัฒนธรรมอีสานไม่ถูกแช่แข็งและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์หรือศิลปะการแสดงสากลต่าง ๆ ได้อีกไม่รู้จบเลยทีเดียว


 

ท้ายสุดกับความรู้สึกของผู้เขียนเองก็ต้องบอกว่า “กีสา” ในฉบับของปาลิตาน่าจะเป็นการเปิดประตูสู่โลกหมอลำของผู้เขียนเองรวมไปถึงมันยังสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะทำให้วัฒนธรรมอีสานไม่ถูกแช่แข็งและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์หรือศิลปะการแสดงสากลต่าง ๆ ได้อีกไม่รู้จบเลยทีเดียว


#กีสา #หมอลำ #การแสดงร่วมสมัย


ดู 154 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page