


“ขุมปัญญาดนตรีและการแสดงคู่ชุมชนภาคตะวันออก”

ความเป็นมา
คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา จัดตั้งเป็นส่วนงานตามมาตรา ๙ (๓) ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๕๐ มีภาระหน้าที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา วิจัย บริการวิชาการ ด้านดนตรีและการแสดง ตลอดจนทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยแยกสาขาดนตรีและการแสดงออกจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ และยุบเลิกส่วนงาน “สถาบันวิจัยวัฒนธรรมและศิลปะ” มาเป็นหน่วยงานภายในกำกับของคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา
สาขาวิชาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มีปรัชญาเพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ด้านทฤษฎี และปฏิบัติ เป็นนักจัดการสามารถสร้างงานได้ด้วยตนเอง และมีโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมที่กว้างไกล ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๖ เริ่มพัฒนาจากหลักสูตรดุริยางคศาสตร์ ดนตรีไทยและสากลให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถออกไปรับใช้สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๔๘ จึงปรับปรุงหลักสูตรและเปลี่ยนชื่อจากสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ เป็น สาขาวิชาดนตรีและการแสดง ประกอบด้วยวิชาเอกดนตรีไทย ดนตรีสากล การแสดงและการกำกับการแสดง และนาฏศิลป์ไทยและการกำกับลีลา ซึ่งนับเป็นเพียงการเริ่มต้นศึกษา ค้นคว้า ทดลองการใช้หลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถรับใช้สังคมได้อย่างแท้จริง มุ่งให้บัณฑิตสามารถนำความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ สำหรับสถาบันวิจัยวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้ประกาศมหาวิทยาลัยบูรพา เรื่อง การจัดตั้งส่วนงาน และภาระหน้าที่ของส่วนงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้บัญญัติให้สถาบันวิจัยวัฒนธรรมและศิลปะ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานและดำเนินการ ด้านการวิจัยทางวัฒนธรรมและศิลปะ ให้บริการวิชาการ เผยแพร่ความรู้ และทำนุบำรุงวัฒนธรรมและศิลปะ มีหน่วยงาน ภายใน คือ ๑) สำนักงานผู้อำนวยการ ๒) ฝ่ายวิจัยวัฒนธรรมและศิลปะ ๓) ฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมและศิลปะ
จากโครงสร้างองค์การและภารกิจหลัก เห็นได้ว่าในส่วนของภารกิจหลักมีส่วนที่สัมพันธ์กันมาก โดยเฉพาะด้านการทำนุบำรุงศิลปะและ วัฒนธรรม ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้มีแนวนโยบายในการดำเนินการจัดตั้งคณะดนตรีและการแสดงขึ้น โดยยกฐานะสาขาวิชาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ และรวมสถาบันวิจัยวัฒนธรรมและศิลปะ จัดตั้งขึ้นเป็นคณะดนตรีและการแสดง เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อให้ภารกิจหลักด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย การจัดตั้งคณะดนตรีและการแสดง สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดนตรีและการแสดง มุ่งให้ผู้เรียนมีความสามารถในการจัดการ และสร้างงานได้ด้วยตนเอง พร้อมมีคุณธรรมและจริยธรรม ด้วยโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมที่กว้างไกล สามารถเพิ่มรายได้เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้วยจุดประสงค์ของมหาวิทยาลัยบูรพาต้องการขยายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาด้วยการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ดังนั้นคณะดนตรีและการแสดงจึงนำแนวคิดนี้เพื่อพัฒนาองค์การด้วย “ศิลปภิวัตน์” หรือ“การสร้างสรรค์” ที่พัฒนามาจากรากทางวัฒนธรรมไทย (Innovation from Tradition) ด้วยเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมในทุกๆ มิติ โดยเฉพาะมนุษย์ และสร้างภูมิคุ้มกันแก่สังคม จึงมีแนวทางในการเรียนการสอน การวิจัย การสร้างสรรค์การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การจัดกิจกรรมพัฒนานิสิตที่เน้นการทำงานเป็นทีมและสร้างสรรค์ผลงานสู่สาธารณชน นอกจากนั้นยังสามารถกำกับดูแลการดำเนินงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยบูรพาอย่างครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เพื่อสร้างคุณภาพ สร้างปัญญาให้แผ่นดิน ด้วยคุณภาพการศึกษาระดับสากล พร้อมนำพาสังคมไทยสู่สังคมอุดมปัญญาที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน