ผู้เขียน: ผศ.สันติ อุดมศรี
รายการแสดงโขน ณ พิพิธภัณฑ์ MUSEE DU QUAI BRANLY JACQUES CHIRAC กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 17-18-19 ธันวาคม 2564 ; ตอนจับลิงหัวค่ำ, พระรามตามกวาง, ลักสีดาและยกรบ: โดย นายพิเชษฐ กลั่นชื่น
โขน เป็นศิลปะการแสดงที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คำว่า “โขน” พบบันทึกครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งโปรดให้มีการแสดงในพระราชพิธีเบญจาเพศและปรากฏชื่อโขนไทยและโขนชวาในเนมิราชกลอนสวด ซึ่งบันทึกของเดอลาลูแบร์ราชฑูตฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ผู้เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พบเห็นการแสดงโขนทั่วไปทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล เป็นหลักฐานยืนยันว่า โขนกลายเป็นศิลปะชั้นสูงที่มิได้จำกัดเฉพาะในราชสำนักเท่านั้น (เฉลิมศักดิ์ เย็นสำราญ . เล่าเรื่องโขนในหนังสือดนตรี-นาฏศิลป์แผ่นดินพระปกเกล้า, หน้า ๘๐)
วงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงโขน คือ วงปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบด้วย ปี่ใน, ระนาดเอก, ฆ้องวงใหญ่, ฉิ่ง, ตะโพน และกลองทัด รวมถึงนักพากย์ เจรจาและนักร้องที่ต้องร้องตามที่กำหนดไว้ในบทการแสดง
นักดนตรีที่บรรเลงประกอบการแสดงโขนนั้น จะต้องมีประสบการณ์เป็นอันมากนอกจากความสามารถทางดนตรีและทักษะที่ดีแล้วในการบรรเลงดนตรี สิ่งสำคัญจำเป็นต้องมีไหวพริบ ปฏิภาณทำความเข้าใจกับเรื่องราว เหตุการณ์ตามเนื้อเรื่อง และรวมถึงทำความเข้าใจกับท่าทางการรำของตัวโขนที่แสดงอัปกิริยาต่าง ๆ เช่น การแปลงกาย, การเดินทางไป-มา, ร้องไห้, หัวเราะเยาะเย้ย ฯลฯ เป็นต้น เพื่อสร้างความกลมกลืนในการแสดงให้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหัวใจหลักของนักดนตรีที่บรรเลงสำหรับประกอบการแสดง
ระยะเวลาการฝึกซ้อมและเตรียมเอกสารของนักดนตรี และนักแสดง ตั้งแต่เดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน-ธันวาคม ทำการฝึกซ้อมที่โรงละครช้าง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในช่วงที่เป็นสถานการณ์โควิด-๑๙ ทาง Company พิเชษฐ กลั่นชื่น ได้บริหารจัดการตรวจ ATK ก่อนเริ่มการฝึกซ้อมทุกขั้นตอนเป็นอย่างดี ตลอดจนการเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นักดนตรีและนักแสดงทุกคนต่างได้รับการดูแลในด้านที่พัก ค่าตอบแทนเป็นอย่างดีเยี่ยม การเดินทางไปครั้งนี้ทำให้ทุกคนเกิดความภาคภูมิใจที่ได้นำการแสดงโขนและวงดนตรีไทยไปแสดงฝีมืออวดความเป็นไทยต่อคนทั่วโลก
#โขน #ฝรั่งเศส #พิเชษฐกลั่นชื่น #MUSEEDUQUAIBRANLYJACQUESCHIRAC
Comments